วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

ครูตันเเบบ

อ.สายยันต์ สมพงษ์ : โค้ชและครู คือผู้นำทาง
สำหรับนักเรียนที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักกีฬาทีมชาติ หรือฝันไกลไปถึงนักกีฬาระดับโลก ประตูโอกาสมีหลายบาน ไม่เฉพาะแต่ระดับอุดมศึกษา เพราะมีโรงเรียนกีฬาที่ปลุกปั้นนักกีฬาตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนตัวน้อยๆ โดยมีต้นแบบผู้เป็นทั้งโค้ชและครูให้ความรู้และการฝึกฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งนักเรียนของตนไปสู่เส้นชัยตามที่หวัง
เส้นชัยของนักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย เริ่มสตาร์ทจาก อาจารย์สายยันต์ สมพงษ์ ประจำศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชน กองการกีฬา สำนักวัฒนธรรมการกีฬาและท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร หรือเรียกสั้นๆ ว่าโรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร
สัดส่วนการเรียนวิชาสามัญกับการฝึกซ้อมกีฬา เราเน้นให้นักเรียนกีฬาได้เรียนกลุ่มวิชาหลัก 5 คาบต่อวัน ในขณะที่นักเรียนทั่วไปจะเรียน 7 คาบต่อวัน ส่วนวิชาเสริมอื่นๆ ก็จะงดไป แต่มีการเสริมความรู้ในรูปแบบอื่น ซึ่งเราจะส่งไปเรียนรวมกับนักเรียนสายปกติตามโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง โดยทุกๆ เช้าหากไม่มีโปรแกรมเตรียมการแข่งขัน นักกีฬาต้องตื่นมาวิ่งเรียกกำลัง ยืดกล้ามเนื้อ หากเป็นช่วงแข่งขันก็จะซ้อมหนักทั้งเช้าและเย็นตามแต่ละชนิดกีฬา ระบบการวัดผลการศึกษาทางวิชาสามัญเหมือนกับนักเรียนทั่วไป แต่วิชาทางการกีฬาจะเป็นครูกีฬาเป็นผู้ประเมิน ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านกันได้ไม่ยาก เพราะทุกคนมีพื้นฐานและความมุ่งมั่นดีอยู่แล้ว
วินัยและสปิริตนักกีฬาคือสิ่งที่ต้องปลูกฝัง เวลาอยู่ในสนาม โค้ชหรือผู้ฝึกสอนกีฬาจะมีหน้าที่เน้นย้ำและปลูกฝังเรื่องสปิริต หรือน้ำใจนักกีฬา และกฎกติกา นอกจากโค้ชแล้วครูฝ่ายปกครองจะคอยดูแลอบรมเรื่องความประพฤติด้วย เพราะสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือระเบียบวินัยที่จะติดตัวเราไปทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกสนาม เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เหมือนมีพี่มีน้องอยู่ด้วยกัน ต้องดูแลตัวเอง คนรอบข้าง และโรงเรียนของเราให้ดีที่สุด
หน้าที่ของครูกับโค้ชการเป็นโค้ชต้องมีสายตาที่เฉียบแหลม มองให้เห็นถึงพรสวรรค์หรือพัฒนาการของเด็กทุกคน แล้วส่งเสริมหรือให้คำแนะนำที่ตรงจุด เขาก็จะไปได้ไกล ต้องมีจิตวิทยาในการฝึกและสอน ในทีมเดียวกัน เราต้องใช้วิธีการที่หลากหลายในการสอนเพราะเขามีที่มาต่างกัน และในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นครูที่สั่งสอนการใช้ชีวิตให้เขาด้วย ครูของโรงเรียนกีฬาจะเป็นทุกๆ อย่างทั้งพ่อแม่ เพื่อน หมอ พยาบาล สิ่งที่เราบอกและสอนเขาทั้งหมดคือต้องการให้เขาวัดรอยเท้าของครู คือไปให้ไกลกว่าครู โดยที่ยังเคารพ ไม่เหยียบย่ำรอยเท้าของครู นี่คือแนวทางที่นักกีฬาที่ดีควรจะได้เรียนรู้ครับ
                 “ต้องการให้เขาวัดรอยเท้าของครู คือไปให้ไกลกว่าครู โดยที่ยังเคารพ ไม่เหยียบย่ำรอยเท้าของครู”
                                                                                                     
อ.สายยันต์ สมพงษ์